ผลงาน ของ หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล)

งานประพันธ์ของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) โดดเด่นที่มีปรากฏและค้นพบได้ในปัจจุบันมีดังนี้

โคลงกลอน

  • จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ. 2374-2381)
ภาพจารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 20 (กลบทพระจันท์ธรงกลด) พบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งโคลงดั้นบาทกุญชร จารึกวัดโพธิ์ [15][16] ปรากฏหลักฐานในคำประพันธ์บทหนึ่ง ความว่า “ฉันทพากย์เพลงโคลงคล่อง สองหลวงว่องโวหาร ชาญภูเบศร์สมญา ลิขิตปรีชาเฉลียวอรรถ เจนแจ้งจัดทุกอัน ร่วมสังสรรค์เสาวพจน์” [17]จารึกวัดโพธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำของโลก [18][19] เมื่อ พ.ศ. 2551 โดย คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

คำโคลงจารึกวัดโพธิ์ ที่หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่ง ปรากฏว่ามีดังนี้

จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน

ท่าที่ 27 ท่าดัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว

จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกาลสิทธิ์ (ฤๅษีปู่เจ้าสมิงพราย) แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าตัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ ด้วยการใช้มือหนึ่งเหนี่ยวไหล่ กดปลายนิ้วลงเหนือซอกรักแร้ และอีกมือหนึ่งหน่วงข้อเท้า โดยกดหัวแม่มือกดลงที่เอ็นเหนือตาตุ่มด้านใน จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

ท่าที่ 45 ท่าดัดตนแก้เท้าเย็นสบาย ใจสวิงสวาย

จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกบิล แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าดัดตนแก้เท้าเย็น ใจสวิงสวาย โดยการไขว้เท้าหนึ่งไปวางบนตักของอีกข้างหนึ่ง ซึ่งถูกสองมือกุมเข่า รัดแข้งยกเอาไว้จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา

แผ่นที่ 31 ภาพเขมร [20]

เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติเขมรว่ามีผิวดำ นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่งกายโดยนุ่งผ้าปูม สวมเสื้อสีคราม คาดแพรเยื่อไม้ของญวนที่สะเอว และไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ไม่ไว้ไรผม จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

แผ่นที่ 32 ภาพลิ่วขิ่ว [21]

เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติลิ่วขิ่ว ว่ามีการเกล้าผมมวยเหมือนจุกเด็ก สวมเสื้อสีหมากสุกยาวคลุมเข่า โพกศีรษะ บ้านเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และมีการถวายบรรณาการแด่จีนจารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร

แผ่นที่ 8 กลบทกินรเกบบัว

จารึกกลบทกินรเกบบัว มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความชอกช้ำใจจากหญิงคนรักที่กลับห่างเหินไป

แผ่นที่ 20 กลบทพระจันท์ธรงกลด

จารึกกลบทพระจันท์ธรงกลด มีคำจารึก 22 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความโศกเศร้าเพราะการพลัดพรากจากหญิงคนรัก

แผ่นที่ 39 กลบทก้านต่อดอก

จารึกกลบทก้านต่อดอก มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความทุกข์ระทมที่ต้องอยู่ห่างไกลจากหญิงอันเป็นที่รัก
  • โคลงศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง (พ.ศ. 2379) [22][23]

ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่ง เป็นโครงสี่สุภาพสลับกาพย์ฉบับ 16 โดยคำประพันธ์ที่จารึกผนังด้านทิศตะวันออกมีระบุบรรดาศักดิ์เป็นหลวงลิขิตปรีชาเป็นผู้แต่ง ซึ่งณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์ ระบุว่า หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ผู้นี้มีนามเดิมว่า คุ้ม กวีในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้แต่งโคลงดังกล่าว

ตัวอย่างคำประพันธ์

อาลักษณ์ศักดิ์ยศพร้องสมญา
หลวงลิขิตปรีชาชื่ออ้าง
นิพนธ์สรรพ์พจนาโคลงพากย์ ฉันท์เอย
แนะตรนักนามป้อมสร้างสฤษดิ์ไว้เปนเฉลิม ฯ
ป้อมนารายน์นารายน์ทรงจักรแก้วฤทธิรงค์
ประหารประหัตดัษกร
ป้อมเสือเสือร้ายแรงขจรในด้าวดงดอน
จัตุบาทฤๅอาจเทียบทัน
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง

ส่วนคำประพันธ์ในจารึกผนังด้านทิศตะวันตก กล่าวถึงเหตุการณ์สร้างเมืองพระตะบองและยังกล่าวถึงการอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยรักษาคุ้มครองเมือง ซึ่งศิลาจารึกส่วนนี้เป็นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เนื่องด้วยเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองไว้เพื่อป้องกันศัตรู

ตัวอย่างคำประพันธ์

ปางปิ่นอดิศวรผู้ทรง ทศพิธธำรง
จารีตราชประเพณี
เฉลิมดิลกพิภพศรีอยุทธเยศบุรี
พระเกียรติเกริ่นธราดล
สถิตยพระโรงรัตนโสภณพร้อมหมู่มุขมน–
ตรีชุลีกรเดียรดาษ
บัดเอื้อนราโชยงการประภาษสั่งตูข้าบาท
ผู้รองเบื้องมุลิกา
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง


  • โคลงนิทานเบ็ดเตล็ด (พ.ศ. 2430) [24]
  • สุริยพันธ์คำกลอน (พ.ศ. 2431)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงนิพนธ์ขึ้นในขณะยังทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เริ่มนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2431) ปรากฏว่าหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในขณะนั้นเป็นหนึ่งในกวีที่ได้ร่วมแต่งคำกลอนลงในพระนิพนธ์นี้ด้วยโดยมีปรากฏคำกล่อนใน สุริยพันธ์คำกลอน ตอนที่ 5 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 12 และตอนที่ 21 เป็นต้น และเคยได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารศิลปากร ฉบับปีที่ 4 เล่มที่ 5 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 - ฉบับ ปีที่ 8 เล่มที่ 12 วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ ฝ่ายพระสุริยพันธุ์พงศ์กษัตริย์ซึ่งวิบัติเรือแตกแยกสลาย
ลงเรือน้อยลอยไปไม่วางวายเอกากายผู้เดียวให้เปลี่ยวใจ
ด้วยเวลาราตรีก็มืดมิดทั่วทุกทิศไม่เห็นสิ่งใดได้
พายุกล้าสลาตันพรั่นฤทัยโอ้ที่ไหนจะได้รอดตลอดคืน
สุริยพันธ์คำกลอน ตอนที่ 5
  • โคลงพิพิธพากย์ (พ.ศ. 2455) [25]

เป็นคำโคลงสุภาษิตที่แสดงถึงคุณและโทษของเรื่องที่ตั้งกระทู้ความ เช่นว่า ความงาม ความรัก ความชัง ความเบื่อหน่าย เป็นต้น ซึ่งกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณได้รวบรวมโคลงเหล่าให้เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2457 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้ร่วมแต่งโคลงนี้ในกระทู้ความเรื่อง ความอิจฉา

ตัวอย่างคำประพันธ์

๏ ความอิจฉาเกิดขึ้นคนใด
พาจิตรไม่ผ่องใสสดชื่น
มักงุ่นง่านทยานใจเจียนคลั่ง
เพราะตฤกตรองตื้นตื้นต่ำช้าตนเฉา
โคลงความอิจฉา


  • กำนันหลอกพราน

เป็นเพลงยาวมีความยาว 27 บท หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่วมแต่งกับนายนาน บางขุนพรหม ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวชิรญาณวิเศษ [26] หมวดนิทานคำกลอน เล่ม 8 แผ่นที่ 20 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับ พ.ศ. 2435 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ นิทานวชิรญาณ เล่ม 1 [27] เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร


นิราศ

นิราศสรวมครวญเป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยโคลงสุภาพชาตรีจำนวน 186 บท และใช้ร่ายสุภาพปิดท้ายโคลงนิราศ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ร่วมแต่งกับขุนสาราบรรจง ขุนจำนงสุนธร และนายเวรจำลอง ภายหลังหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนีได้ตรวจสอบ ชำระใหม่และเขียนเพิ่มเติมเป็นฉบับ นรินทร์จัน-ประชันนรินทร์อิน ทรงใช้นามปากกาว่า “พ.ณ.ประมวญมารค”

ตัวอย่างคำประพันธ์

เทเวนทรวาสุเทพท้าวผทมสินธุ์
อ่อนอาสน์อุรัคคินทร์ค่ำเช้า
ทรงสังข์จักราจิณเจนหัตถ์
หลับอย่าลืมละเจ้าปิ่นไท้ผไทสยาม
นิราศสรวมครวญ

อื่นๆ

พระสมุดโคลงแผนม้าตำราพุกาม ฉบับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหามหาศักดิพลเสพ ฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ 2
  • เลียดก๊ก พงศาวดารจีน (พ.ศ. 2362)

เมือ พ.ศ. 2362 ตรงกับรัชกาลที่ 2 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแปลและเป็นบรรณาธิการ เลียดก๊ก พงศาวดารจีน ปรากฏในย่อหน้าที่ 3 ของพงศาวดารว่า "ห้องสินแลในเลียดก๊กนั้น ว่าด้วยพระเจ้าบู๊อ่องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้าหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ชำระขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย" [30] พร้อมด้วยกวีดังนี้ ขุนมหาสิทธิโวหาร พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี หลวงญาณปรีชา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) พระยาโชดึกราชเศรษฐี หลวงวิเชียรปรีชา ขุนท่องสื่อ จมื่นไวยวรนาถ นายเล่ห์อาวุธ และจ่าเรศ

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่งตำรับพุทธศาสตร์ประกอบตำรานพรัตน์ ว่า "วชิรํ รัตตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รัตฺตกาฬมิสิสกํ โอทาตปีตมิสสฺกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตตาหารญจาติ อิมานิ นวากาทีนิ รตนานิ ตฺสมา รตนชาติ โย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปปชฺชนตีติ เวทิตฺพพา" ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีกวีในครั้งนั้นร่วมแต่งตำรานพรัตน์ ปรากฏว่ามี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) พระมหาวชิรธรรรม หลวงภักดีจินดาและนายชม รวมถึงบรรดากวีท่านอื่น ๆ ที่ได้ร่วมนิพนธ์กับหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ช่วงรัชกาลที่ 3 เช่น พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนธนสิทธิ์ หมื่นพรหมสมพัตรสร หมื่นนิพนธ์อักษร ครูแจ้ง นายเกตุ นายช้าง นายนก นายพัต และกวีหญิงอีก 2 ท่านคือ คุณพุ่มและคุณสุวรรณ

  • พระพิไชยสงคราม (พ.ศ. 2368)

เมื่อ พ.ษ. 2368 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยวงศ์ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย ได้จัดข้าทูลอองธุลีพระบาทสนองพระบัณฑูรสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้ชำระคัมภีร์สาตรพยากรณ์ฤกษบนล่าง วิทธีวิชาไมยมนต์เลกยันต์แลอาถันข่มนาม และพระราชพิทธีข่มนามที่พยุหะ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมชำระตำรับ "พระพิไชยสงคราม" เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีระกาสัพศก [34][35][36][37] เป็นตำราลับปกปิดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงแต่งขึ้นเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก ตรงกับ พ.ศ. 2041 โดยเชิญพระตำรับจำนวน 14 เล่ม ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล ดังความว่า [38] "...พระเจ้าน้องยาเธอรับพระราชปริหาญ จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีสติปัญญา ได้ พระยาบำเรอบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ๑ พระมหาวิชาธรรม ๑ จางวาง ราชบัณฑิต ๑ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ๑ หลวงสุธรรมาจารย์ ๑ พระโหราธิบดี จางวางโหร ๑ หลวงญาณเวท ๑ หลวงไตรเพทวิไศรย ๑ ขุนโลกยพรหมา ปลัดกลม ๑ รวม ๙ นาย พระเจ้าน้องยาเธอเป็นแม่กอง ครั้น ณ วัน ๕ ๖ ๘ ค่ำ ปีระกาสัพศก พร้อมกัน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เชิญพระตำรับพระพิไชยสงครามข้างที่ออกมาเป็นสมุดพระราชตำรับ ๑๔ เล่ม ให้ลงมือจับชำระสอบสวนกันที่ฟั่นเฟือนวิปลาดซ้ำกันก็วงกาตกเต็มให้ถูกถ้วนแล้วขึ้นกราบทูลพระกรุณา ทุกเวลาเสด็จออกวถายสังฑภัตทาน ทรงฟังเทศนาเช้าเย็น ภอพระทัยบ้าง ทรงชำระวงกาดัดแปลงบ้าน โปรดให้ออกมาเรียบเรียงชำระใหม่บ้าง แต่ได้ชำระพระตำรับพระพิไชยสงคราม ณ วัน ๕ ๖ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัพศก จนถึง ณ วัน จึงสำเร็จ ให้คัดส่งเข้าไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งไว้ ณ หอหลวงฉบับหนึ่ง..."


  • หนังสือ "องเลโบ” (พ.ศ. 2390)

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) รับสั่งจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ให้แปลหนังสืออักษรญวนออกเป็นไทย พร้อมนำสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดีขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งให้เป็นผู้พาพญาราชเดชกับพญาธนาบดี องค์ญวนของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทั้ง 2 องค์เข้ามาแจ้งราชการที่กรุงเทพด้วย เมื่อแปลเสร็จแล้วหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดี ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า “ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมรเข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชา ฯ คิดราชการถูกอุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถิงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอกจัตวาศนับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อ ณ วัน ๕ ๗ ค่ำ ปีมะแมนพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบ็ญจศกช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้”

  • พระสมุดโคลงแผนม้า ตำราพุกาม ฉบับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (พ.ศ. 2395) [39]

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์รับสั่งให้ชำระตำราร่วมกับขุนจำนงสุนทร ปลัดกรม เมื่อวันพฤหัสบดีเดือนสิบ ขึ้นห้าค่ำ ปีชวดจัตวาศก ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม ในสมัยรัชกาลที่ 4


  • พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 5 เล่ม 2 [40]
  • "ศิริวิบุลยกิตต์"

หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งเพลงยาวกลบทและกลอักษรกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงนายชาญภูเบศร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ขุนธนสิทธิ์และจ่าจิตร์นุกูล